Internet of Things: IoT
Internet of Things: IoT
อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things: IoT) เป็นเทคโนโลยีที่ทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ สามารถเชื่อมต่อและมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันผ่านอินเทอร์เน็ต
1. สมองกลฝังตัวและเซ็นเซอร์
สมองกลฝังตัวที่ประกอบด้วยเซนเซอร์ เป็นอุปกรณ์ใช้ในการเชื่อมต่อระหว่างโลกกายภาพและโลกดิจิทัล โดยเซ็นเซอร์สามารถตรวจจับสิ่งที่สนใจ รวมทั้งประเมินผลและจัดเก็บข้อมูลแบบทันทีทันใด และมีหลากหลายชนิดขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการใช้งาน เช่น เซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิ คุณภาพอากาศ ความชื้น การเคลื่อนไหว และความเร็ว เซ็นเซอร์สามารถวัดสมบัติทางกายภาพและเปลี่ยนค่าที่วัดได้ให้เป็นสัญญาณที่อุปกรณ์นั้น ๆ สามารถเข้าใจได้
2. เกตเวย์และเครือข่าย
เซ็นเซอร์ส่วนใหญ่ต้องเชื่อมต่อไปยังเครือข่ายและเกตเวย์เพื่อเข้าสู่อินเทอร์เน็ต จึงทำให้การเชื่อมต่อแบบแลน (Local area Network: LAN) เครือข่ายไร้สาย (Wi-Fi) เครือข่ายโทรศัพท์ เครือข่ายส่วนบุคคล (Personal Area Network: PAN) เช่น บลูทูธ สำหรับเซ็นเซอร์บางตัวสามารถเชื่อมต่อกันเป็นเครือข่ายแบบไร้สาย เรียกว่า เครือข่ายเซ็นเซอร์ไร้สาย (Wireless Sensor Network: WSN) ซึ่ง Sensor เหล่านี้ถูกพัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูง ใช้พลังงานน้อยและรับส่งข้อมูลในอัตราต่ำที่เพียงพอต่อการใช้งาน ทำให้มีความสะดวกและประหยัดค่าใช้จ่ายจึงได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
3. ส่วนสนับสนุนการบริการ
ส่วนสนับสนุนการบริการ เป็นส่วนที่ทำหน้าที่ในการสนับสนุน เช่น การประมวลผลข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล การควบคุมความปลอดภัย การบริหารจัดการ การเชื่อมต่อของอุปกรณ์ การควบคุมการรับ-ส่งข้อมูล และทำหน้าที่เป็นตัวกลางสนับสนุนการเชื่อมโยงระหว่างแอปพลิเคชันกับอุปกรณ์ IoT การใช้งาน IoT นิยมใช้การประมวลผลแบบคลาวด์ช่วยในการจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่
4. แอปพลิเคชัน
แอปพลิเคชัน (Application) เป็นส่วนติดต่อสื่อสารระหว่างมนุษย์กับอุปกรณ์ และทำให้เราสามารถควบคุมอุปกรณ์ IoT ได้จากระยะไกลผ่านทางอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ยังอาจเป็นระบบที่ควบคุมอุปกรณ์ให้ทำงานสอดคล้องกันตามวัตถุประสงค์ของการทำงานแบบอัตโนมัติ
เมืองอัจฉริยะ เป็นการนำเทคโนโลยี IoT มาประยุกต์ใช้เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของผู้คนในเมืองดีขึ้น เช่น การดูแลรักษาความปลอดภัยโดยใช้กล้องวงจรปิด การอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน การบริหารจัดการพลังงาน การจัดการจราจร
ศูนย์สุขภาพอัจฉริยะ เป็นการนำเทคโนโลยี IoT เข้ามาประยุกต์ใช้ในการแพทย์เพื่อช่วยในการจัดเก็บ วิเคราะห์ ซึ่งอาจรวมถึงการรักษาระยะไกล
บ้านอัจฉริยะ เป็นการนำเอาเทคโนโลยี IoT เข้ามาประยุกต์ใช้ในที่อยู่อาศัยเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในชีวิตประจำวัน เช่น สวิตซ์ไฟฟ้าอัจฉริยะ ประตูอัจฉริยะ โทรทัศน์หรือตู้เย็นอัจฉริยะ กล้องตรวจจับการเคลื่อนไหวภายในบ้าน
ฟาร์มอัจฉริยะ เป็นการนำเทคโนโลยี IoT มาประยุกต์ใช้ทางด้านการเกษตรเพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตและแก้ปัญหา เช่น การนำเซ็นเซอร์มาวัดคุณภาพของดินความชื้น หรือสภาพอากาศ แนะนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์เพื่อเลือกปลูกพืชให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม
เอกสารอ้างอิง
[1] สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. (2563). เทคโนโลยี (วิทยาการคำนวณ) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ สกสค. ลาดพร้าว.