การประมวลผลแบบคลาวด์
การประมวลผลแบบคลาวด์
การประมวลผลแบบคลาวด์ (Cloud Computing) เป็นรูปแบบหนึ่งของการให้บริการทรัพยากรคอมพิวเตอร์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เช่น หน่วยประมวลผล หน่วยความจำ พื้นที่เก็บข้อมูล และซอฟต์แวร์ ซึ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้สามารถใช้งานทรัพยากรเหล่านั้นได้ทุกที่ทุกเวลา
ผู้ใช้งานสามารถใช้บริการการประมวลผลแบบคลาวด์ผ่านอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ เช่น คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต โทรศัพท์มือถือ โดยเรียกใช้บริการผ่านเว็บเบราว์เซอร์ หรือแอปพลิเคชันที่ติดตั้งอยู่ในอุปกรณ์เหล่านั้น
เมื่อเราใช้บริการการประมวลผลแบบคลาวด์ เช่น แชร์ภาพบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ ไฟล์ภาพนั้นไม่ได้ถูกนำไปเก็บในกลุ่มก้อนเมฆหรือบรรยากาศเหมือนชื่อที่เรียกแต่ไฟล์ภาพนั้นจะถูกเก็บอยู่ใน ศูนย์ข้อมูล Data Center ของผู้ให้บริการ Cloud Service providers ที่ประกอบไปด้วยคอมพิวเตอร์จำนวนมากที่เชื่อมต่อกับระบบเครือข่าย ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถเรียกดูภาพนั้นได้ตลอดเวลา
ศูนย์ข้อมูล (Data Center) คือ พื้นที่ในการจัดเก็บคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับเครือข่ายต่าง ๆ ได้แก่ สวิตช์ เราเตอร์ สายเคเบิล ไปจนถึงชั้นวางต่าง ๆ โดยระบบ Data center จะต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่เพียงพอทั้งเรื่องของพลังงานไฟฟ้า แหล่งจ่ายไฟสำรอง ระบบระบายความร้อน ระบบปรับอากาศ เพื่อให้ระบบคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ สามารถทำงานได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ โดยจะให้บริการต่อเนื่องทุกวัน ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง
ที่มา : สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (2563)
การให้บริการโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure as a Service: IaaS)
การให้บริการโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure as a Service: IaaS) หมายถึง การให้บริการโครงสร้างพื้นฐานหลักของบริการ Cloud Computing เช่น ระบบประมวลผล ระบบจัดเก็บข้อมูล ระบบเครือข่าย ตลอดจนอุปกรณ์พื้นฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยความจำ เซิร์ฟเวอร์ และระบบปฏิบัติการที่ทําให้สามารถใช้งานซอฟต์แวร์แอปพลิเคชันได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยผู้ใช้ไม่ต้องบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานเอง
ตัวอย่างของการบริการ IaaS มีตั้งแต่บริการด้านเซิร์ฟเวอร์ในการโฮสเว็บไซต์ต่าง ๆ อย่าง Google Compute Engine หรือ Azure Virtual Machine และบริการ Storage เช่น Google Cloud Storage หรือ Amazon S3 ที่เป็นการให้บริการด้านพื้นที่การเก็บข้อมูล สามารถเข้าถึง แก้ไขข้อมูลได้ตลอดเวลา
การให้บริการแพลตฟอร์ม (Platform as a Service: PaaS)
การให้บริการแพลตฟอร์ม (Platform as a Service: PaaS) หมายถึง การให้บริการแพลตฟอร์มและเครื่องมือแก่ผู้ใช้งานคลาวด์ที่เป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชันเป็นหลัก เพื่อใช้ในการพัฒนาซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชัน เช่น โปรแกรมเบื้องต้น ฐานข้อมูล และระบบที่เอื้อต่อการสร้างแอปพลิเคชัน โดยผู้ใช้ไม่ต้องบริหารจัดการระบบหรือเครื่องมือเอง แต่ต้องติดตั้ง แก้ไข ปรับแต่งแอปพลิเคชันที่สร้างหรือพัฒนาขึ้นเอง
นักพัฒนาและโปรแกรมเมอร์สามารถเข้ามาใช้งานผ่านระบบออนไลน์ได้โดยไม่ต้องหาอุปกรณ์และระบบต่าง ๆ ด้วยตนเอง ตัวอย่างเช่น Microsoft Azure Web Apps Service, Heroku และ Force.com
การให้บริการซอฟต์แวร์ (Software-as-a-Service: SaaS)
การให้บริการซอฟต์แวร์ (Software-as-a-Service: SaaS) หมายถึง การให้บริการซอฟต์แวร์ที่มีความยืดหยุ่นต่อการเข้าถึงการใช้งานได้หลากหลาย โดยผู้ใช้ไม่จําเป็นต้องบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานเอง ทั้งในส่วนของเครือข่าย เซิร์ฟเวอร์ ระบบปฏิบัติการ การจัดเก็บข้อมูล รวมถึงความสามารถของแอปพลิเคชันที่ใช้งาน
ผู้ใช้สามารถสร้าง แก้ไข เพิ่มเติม ผ่านทางออนไลห์ได้เลย โดยที่ไม่ต้องติดตั้งโปรแกรมบนเครื่องให้เปลืองพื้นที่ ใช้บนอุปกรณ์ไหนก็ได้ ตัวอย่างเช่น Microsoft Office 365 และ Google Workspace
เอกสารอ้างอิง
[1] สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. (2563). เทคโนโลยี (วิทยาการคำนวณ) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ สกสค. ลาดพร้าว.
[2] Meow. (2566). Cloud Computing มีประเภทอะไรบ้าง บริการด้าน Data ที่คุณต้องรู้. DATATH. https://blog.datath.com/cloud-computing-types/
[3] Piyachart Maikaew. (2566). ทุกเรื่อง ‘ต้องรู้’ ก่อนลงทุนธุรกิจ Cloud Computin. Jitta Library. https://library.jitta.com/th/blogs/cloud-computing-thematic-etf-th